Skip to Content

On the road of craft

Table of contents

On Craft of Mine

เสื้อกั๊กหนังปะตัวนี้ เป็นของรักของหวงที่ไม่ว่าย้ายไปไหน มันจะต้องถูกเก็บถนอมไว้อยู่ในกล่องสมบัติที่หวงระดับห้าดาว เป็นงานที่เย็บขึ้นท่ามกลางกองเศษหนังจากโรงงานหนังแถวสันกำแพงที่ใกล้เลิกกิจการเมื่อ สามสิบปีที่แล้ว ยุคนั้นนังไม่มีใครเห่อเรื่องนำเศษวัสดุมาสร้างสรรค์งาน และที่ใช้เศษหนังมาทำ ก็ไม่ใช่เพราะมีแนวคิดรักษ์โลกหรืออะไรเลย เหตุผลเพราะไม่มีปัญญาจะซื้อหนังเป็นตัว ซึ่งเวลานั้น ถือว่าราคาสูง (แต่เชื่อหรือไม่  หนังกลายเป็นวัสดุที่แทบจะราคาคงที่ เหมือนราคาของผลผลิตทางการเกษตรบ้านเราเลย)​ ตกตัวละ 2-3พันบาท 

ช่วงนั้นปาป้าทำแกลเลอรี่กับเพื่อนกลุ่มสันหลังยาว อยู่แถวคันคลองชลประทานข้างมหาลัยเชียงใหม่

 ตั้งชื่อมันว่า Fantasy Garage หรือ อู่ซ่อมฝัน”

 เพื่อนสันหลังยาวคนอื่นๆ ล้วนเป็นอาร์ตติสต์ มีผลงานภาพวาดแขวนผนังกันทุกคน มีแต่ปาป้าคนเดียวที่ยังงมหาตัวตนอยู่ 

 วันๆก็เลยเอาหนังมานั่งปะตามแพทเทิร์นที่ตัวเองต้องการ เป็นกะเป๋าบ้าง เป็นไดอารี่ บ้าง  ปะไปปะมา เหมือนได้วิชาการปะหนังโดยไม่รู้ตัว สนุกกับการวางลวดลายและ

จังหวะของมัน โดยยึดหลักว่า พยายามตัดชิ้นส่วนนั้นให้น้อยที่สุด เพื่อจะได้ไม่มีเศษทิ้งมาก (คิดดู ขนาดเป็นเศษหนัง  กรูยังพยายามใช้อย่างเขียมฝุดๆเลย นิสัยนี้ยังติดตัวมาจนทุกวันนี้)​ และจากวิชาการปะหนังที่ฝึกฝนด้วยตัวเองนี่แหละที่อีกไม่นานต่อมาได้กลายมาเป็น วิชาเลี้ยงชีพที่ช่วยให้ปาป้าพาลูกเมียผ่านพ้นวิกฤติมาได้อย่างหวุดหวิด

เสื้อหนังปะตัวนี้ ไม่ใช่งานที่เลอเลิศอะไรเลย จะเรียกว่ามันถูกตัดเย็บขึ้นมาจาก ความไม่รู้อะไรเลยของตัวเองเกี่ยวกับ งานเครื่องหนัง ทักษะพื้นๆที่นำมาใช้กับงานชิ้นนี้ ก็คือ การกรีดหนัง ตัดหนังด้วยต้นทุนทักษะการจับคัตเตอร์ที่ถูกต้องจากวิชางานช่างสมัยมัธยม  กับการตอกรูหนังด้วยตุ๊ดตู่ ที่ฝึกฝนกันไม่ยาก  แค่จับค้อนเป็น และตอกให้โดนแท่งเหล็ก และคำนวณนำ้หนักที่ลงว่าแค่ไหนหนังขาด เพื่อจะได้ไม่ทำให้ผิวเขียงเยินก่อนเวลา

ถ้าจะมีสิ่งเดียวที่(เพิ่ง)​รู้สึกว่าเป็นต้นทุนที่อยู่ในตัว โดยไม่รู้ว่ามันงอกจากหน่อใด และเติบโตขึ้นตอนไหน คือ การรู้จักวางจังหวะของสีและรูปทรง ที่เมื่อนำมาประกอบกันแล้ว ดูสวยงามลงตัว  หรือภาษาของคนศิลปะว่า composition 

จำได้ว่า ตัวเองนั่งใช้เวลากับการวางแพทเทิร์นลวดลายนานที่สุด เล็งแล้วเล็งอีก  ราวกับกำลังจะส่งประกวด ดีมาร์ค ยังไงยังงั้น555  และกว่าจะเย็บด้วยเชื่อกหนังอีก เบ็ดเสร็จกินเวลาหลายวัน

เสร็จแล้วก็สวมมันแทบไม่ยอมถอดราวกับเป็นเสื้อสามารถ จนเพื่อนสันหลังยาวอีกคน เอก ลายก้นหอย แอบไปตัด “เสื้อสามารถ” ของตัวเองมาสวมประชันอีกตัว

ตลอดยี่สิบกว่าปี เราปล่อยให้เสื้อตัวนี้ซุกเก็บอยู่ในที่ของมัน โดยไม่เคยแม้แต่จะหยิบมันขึ้นมาดู…จนเมื่อตัดสินใจกลับมาตามเส้นทางความฝันของตัวเองอีกครั้ง เมื่อห้าปีที่แล้ว… และเมื่อบ้านปาป้าคร้าฟต์เปิด และมีที่ทางให้กับ”สมบัติ”เหล่านี้  เสื้อปะหนังตัวนี้ก็ถูกเชิญออกจากกล่องลงมาสถิตให้ คาเฟ่มิตรของปาป้าได้ยล… 

วิชาศิลปะการปะเศษหนัง อย่างที่เกริ่นไว้เมื่อคราวที่แล้วว่า ได้พาปาป้าและครอบครัวรอดพ้นวิกฤติได้อย่างหวุดหวิด

วิกฤติที่ว่า มาก่อน ต้มยำกุ้ง หรือ แฮมเบอเกอร์ ซะอีก และสามารถเกิดขึ้นได้ทุกยุคสมัย กับทุกผู้นาม ที่หาญกล้า ท้าทายโชคชะตา… 

ตอนนั้น ปี 35 หลังจากไปเป็นจับกังให้ร้านขายวัสดุก่อสร้างของพี่ชายอยู่ไม่กี่เดือน ก็ไม่อาจฝืนทนต่อไปได้ ตัดสินใจออกมา  พาลูกเมียไปตายเอาดาบหน้า โดยที่ยังไม่รู้เลยว่าจะไปทำอะไร หรือหามื้อต่อไปให้พวกเขาได้จากไหน จำได้ว่า พยายามรวบรวมสมาธิแปลเรื่องสั้นส่ง นิตยสารการเมืองรายสัปดาห์สมัยนั้น   (สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ดอกเบี้ย)​   แต่ความกังวล รุกไล่อยู่ไม่ห่างเหมือนเงาตามตัว  เพียงไม่กี่วัน ทุกอย่างก็หมดไปจากบ้าน เขย่ากระปุกออมสินเบาโหวง ได้ยินเพียงเสียงเคล้งๆของเหรียญไม่กี่เหรียญ…

ที่มุมห้อง บนกองเศษหนัง มีม้วนกระดาษสาอยู่ ไม่รู้ว่าได้มันมาตั้งแต่เมื่อไหร่ รู้แต่ว่า นาทีนั้นเกิดพุทธิไอเดียบางอย่างขึ้นแบบฉับพลัน   ว่าแล้วก็จัดแจงตัดกระดาษสาตามขนาดที่ต้องการเพื่อพับ และเย็บเป็นไส้สมุด สมัยนั้น โนวฮาวการทำสมุดทำมือ ยัง ไม่มีใครสอน (อีกหลายปีต่อมาจึงค่อยเห็นมีเวิร์คช้อปสอนเย็บสมุดทำมือ)​ต้องนั่งงมหาวิธีเอาเอง ใช้อุปกรณ์เท่าที่หาได้ในบ้าน และพบว่าเชือกฝ้ายฟั่นเกลียวที่ซื้อจากตรอกเล่าโจ๊ว เหมาะจริงๆสำหรับงานนี้ มีความเหนียวพอตัวและไม่บาดกระดาษเหมือนเส้นไนล่อน และที่สำคัญมันเป็นวัสดุจากธรรมชาติเหมือนเนื้อกระดาษที่มองเห็นเส้นใยสานกันเป็นร่างแห ดูเหมือนเบาบางขาดง่าย แต่บอกได้เลยว่า กระดาษสาจากบ้านต้นเปา สันกำแพงที่ใช้นั้นเหนียวและทน เจอน้ำไม่ยุ่ยง่ายเหมือนเนื้อกระดาษทั่วไป  เหมาะอย่างยิ่งสำหรับการเก็บบันทึกทุกตัวอักษรอันมีค่าของเรา …

เริ่มต้นทำสมุดไดอาร์รี่

สมุดไซส์ยาวไปแนวตั้ง คล้ายสมุดจดบัญชีร้านของหลงจู๊สมัยก่อน  ถูกคำนวณจากความกว้างของกระดาษสาหนึ่งแผ่น ที่เมื่อตัดแล้วให้ เหลือเศษน้อยที่สุด หรือ พอดี ไม่มีเศษเหลือนอกจากการตัดขอบในขั้นตอนสุดท้าย (คิดแนว economic ฝุดๆ)​ 

วิธีการเย็บที่คิดค้นได้แบบง่ายสุดคือพับกระดาษที่ทบเป็นปึกแล้ว เพื่อหาแนวกึ่งกลาง แล้วก็ใช้เหล็กเจาะรูนำและ เย็บอย่าให้แน่นหรือหย่อนเกินไป เสร็จแล้วก็นับแผ่น แบ่งครึ่งและพับทบ ตามรอยเย็บ เป็นทบซ้ายและขวาและ พลิกกลับ จะเห็นฝีเย็บเป็นเส้นขวาง เชื่อมไส้ทั้งสองปึกไว้ด้วยกัน กลายเป็นไส้สมุดหนึ่งเล่มอย่างง่ายๆ  และถ้าเย็บร้อยปึกต่อไป ก็จะได้ไส้ที่หนาขึ้น ตามความต้องการ… วิชาการเย็บสมุดทำมือ เป็นอีกหนึ่งแขนงที่งอกขึ้นมาจากโรงเรียนสอนตัวเอง (Self-taught School)​

ขณะเย็บก็นั่งคิดไปเรื่อยว่า เสร็จแล้วจะไปขายให้ใคร  ตอนนั้นบนไนท์บาซาร์ ก็มีหลายร้านที่ขายงานแฮนด์เมด  และเชียงอินทร์พลาซ่า ก็เพิ่งเปิด มีร้านที่อวดบุคลิกเฉพาะตัวอยู่ และขายงานในราคาไฮเอนด์มาก เห็นแล้วก็ฝันฟุ้ง ว่าสักวันจะมีร้านที่ขายงานของตัวเองอย่างนี้บ้าง… ว่าแต่ ตอนนี้ ตรงหน้านี้ งานที่จะไปแลกค่าข้าวสารมากรอกหม้อ  ยังไม่รู้เลยว่าหน้าตาจะออกมายังไง… 

หากระดาษปฏิทินซึ่งมีความหนามาทำปก ตัดขนาดห่มไส้ ให้พ้นขอบบนล่างข้างละหุน ส่วนด้านข้างเพิ่มอีกหุน เผื่อตอนพับสมุดจะได้ไม่เห็นไส้โผล่แพลม ไม่งามตา  และติดแผ่นบนสุดกับกระดาษหุ้ม เล็งเซ็นเตอร์ให้ดี ติดลาเท็กซ์ และค่อยๆรีดจากตรงกลางไปหาขอบเพื่อไม่ให้กระดาษยับย่น (ตอนหลัง เอาง่ายไว้ก่อน ใช้กาวสองหน้าใสติด แต่ผ่านไประยะหนึ่ง ไดอารี่ที่ทำไว้เป็นตั้งต้องซ่อมใหม่หมดเลย เพราะกาวหมดอายุ)​

มาถึงขั้นตอนสำคัญ คือการทำอาภรณ์ห่อหุ้มมันให้สวยงามจากกองเศษหนังรอบตัว

ตอนนั้นสำหรับเราซากเหลือทิ้งจากโรงงานผลิตเครื่องหนัง เสมือนสมบัติอันแสนมีค่าที่ต้องหวงแหน เรียกว่า ถ้าตอนนั้นมีเพื่อนฝูงสักคนมาขอแบ่งปันไป ก็คงต้องมีดราม่าสักเรื่องต่อจากนั้น

 และเล่มแรกก็คงเหมือนลูกคนแรก เราย่อมคัดสรร(เศษ)​หนังที่ดีที่สุด ต้องตาต้องใจที่สุด เพื่อคลอดมันออกมาให้สวยงามดั่งใจนิมิต

คัดเลือกแล้ว และวางแพทเทิร์นตามรูปทรงของแผ่นหนังตรงหน้า โดยยึดหลักเดิม คือตัดออกให้น้อยที่สุด  (หลักอันนี้ ทำไปทำมา แทบจะกลายเป็นปรัชญาประจำตัวไปเลย คล้ายๆการไม่พยายามละเมิดสิ่งที่มีอยู่ก่อน เดินตามวิถีที่มันควรเป็น อะไรทำนองนั้น)​ และนำมาปะติดปะต่อลงบนกระดาษรอง ด้วยกาวบางๆพออยู่ เพื่อให้คงรูป และง่ายต่อการตอกและเย็บในขั้นตอนต่อไป

ส้อมที่ใช้ตอก เป็นอุปกรณ์งานหนังชิ้นแรกๆที่ซื้อจากร้านแถวช้างม่อย เป็นร้านเก่าแก่ ที่ขายอุปกรณ์เครื่องหนังอยู่ไม่กี่อย่าง มีตุ๊ดตู่กลม อยู่ไม่กี่เบอร์ กับส้อมเฉียง และสีย้อม กับน้ำยาเคลือบเงา  จำได้ว่าตอนนั้น วิชาทำเครื่องหนัง และแหล่งซื้ออุุปกรณ์พวกนี้ ต้องถามเอาจาก เพื่อนช่างหนังคนหนึ่ง ชื่อไก่  ซึ่งมีร้านของตัวเองแถวลอยเคราะห์ คือ ไทยเครื่องหนัง อันเป็นแหล่งสุมหัวแห่งหนึ่งของสันหลังยาว และเส้นทางชีวิตของคนคร้าฟต์ก็ได้พาเรากลับมาเจอเพื่อนคนนี้อีกครั้งในอีกยี่สิบปีต่อมาบนนิมมานซอยหนึ่ง

การตอกรูด้วยส้อม เป็นส่วนของงานที่โปรดปรานที่สุด หลายคนต้องใช้เวลาฝึกฝน เพื่อตอกรูให้แม่น อยู่ในแนวเดียวกัน และรักษาระยะห่างกับขอบให้สม่ำเสมอ จำได้ว่า ทุกครั้งที่ได้ยินเสียงโป๊กๆ ไอ้ตัวน้อยซึ่งตอนนั้นได้ขวบแล้วจะโร่มาแย่งฆ้อนแย่งตุ๊ดตู่หรือซ่อมจากเราทันที จนต้องสละตุ๊ดตูปากบิ่น กับค้อนและเขียงไม้หน้าเยินแล้ว ยกให้เป็นอุปกรณ์ส่วนตัวของมันไป นั่นเป็นของเล่นที่คิดว่าน่าจะฝังเชื้อเชิงช่างให้กับมันได้  แต่เปล่าเลย  ตอนเรียนมัธยม เห็นนายขวัญกล้าจับคัตเตอร์ตัดกระดาษแล้ว ต้องยอมล้มเลิกความคิดที่จะปลูกวิชาช่างให้กับลูกชายคนนี้ไปเลย

เมื่อเย็บเชื่อมแผ่นเศษหนังด้วยด้ายฝ้ายสีดิบ จนได้งานคอลลาจสวยงามแล้ว ก็หาผ้าดิบมาทำหน้าที่ซับใน และซองสำหรับสวมเข้ากับปกสมุด  โดยเย็บด้นถอยหลัง และปลิ้นเก็บตะเข็บไว้ใน  การเนาผ้า การเย็บด้นถอยหลัง เราได้จากคุณครูจันทร์พงษ์   คุณครูประจำชั้นตอนป.สี่ โรงเรียนวัดปทุมคงคา   เป็นวิชาที่เพิ่งมาสำนึกเอาในตอนนั้นว่า มีคุณค่าราคาขนาดที่พาลูกศิษย์คนหนึ่งรอดพ้นจากปากเหวแห่งความล้มเหลวได้

ขั้นตอนสุดท้ายคือเก็บขอบให้สวยงาม ถ้าเทียบกับอาภรณ์ของหญิงสาว  ขอบคือชายผ้าที่ต้องเย็บเก็บให้เรียบร้อย  ความประณีตของเสื้อผ้าชิ้นนั้นๆดูได้จากเนื้องานส่วนนี้  ที่สามารถอวดลูกเล่นการตกแต่งให้ดูโดดเด่นแตกต่างได้

ตามขนบของงานเครื่องหนังของเหล่าช่างผู้สืบทอดเทคนิคดั้งเดิมจากเผ่าพันธุ์อินเดี้ยน ก็มักนิยมใช้เชือกหนังฟอกฝาดบาง ที่เค้าตัดขายเป็นริ้ว ๆ มีโหลเส้น  เส้นหนึ่งกว้างประมาณหนึ่งหุน นิยมนำมาถักขอบกระเป๋า หรือซองใส่แว่นกันแดดของจิ๊กโก๋ยุคหกศูนย์  งานเครื่องหนังสไตล์อินเดี้ยนเหล่านี้ จะไม่ปล่อยพื้นหนังให้ว่างเปล่า ต้องมีลวดลายวิจิตรจากศิลปะการดุนลายประดับ (งานสไตล์นี้หาคนทำยากยิ่งแล้ว)​ 

ตอนนั้น อยากได้เหลือเกิน เชือกถักหนัง แต่คำนวณดูแล้ว สมุดเล่มหนึ่ง ต้องใช้เกือบโหลเส้น จำได้ว่า ราคาหลักร้อย ซึ่งเลิกคิดไปได้เลย  

ตลอดชีวิตของการทำงานฝีมือ เราขอบคุณภาวะที่ต้องให้เราคิดแก้ปัญหา เพื่อหาวัสดุทดแทน หรือกระทั่งต้องออกแบบใหม่หมด เพราะไม่มีปัญญาซื้อหาวัสดุนั้นมาใช้ได้เสมอ  เราสลัดภาพที่นิมิตไว้แล้วทิ้งไป  และลองจินตนาการถึงภาพใหม่ …มันจะดีไหม ถ้าใช้เชือกมาถักขอบ  ต้องดีงามสิ เพราะเป็นวัสดุเดียวกันกับที่เย็บเชื่อมแผ่นเศษหนัง แถมยังกลมกลืนเป็นเอกภาพด้วย แต่จะถักแบบไหน??? 

“ตัวเอง”  สุดท้าย ก็น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า ช่างฝึกหัดอย่างเรายังขาดทักษะที่จำเป็นอีกหลายด้าน โดยเฉพาะด้านที่เหมือนจะอยู่ในดีเอ็นเอของผู้หญิงสมัยนั้นแทบทุกคน 

“ถักโครเชต์ได้ใช่มั้ย ช่วยหน่อยดิ?” 

ว่าแล้วเราก็จัดแจงตอกรูตามแนวขอบของแผ่นคอลลาจเศษหนัง การตอกรูตรงตะเข็บรอยต่อ ต้องระวังอย่าให้หนังขาด ไม่งั้น จะเป็นงานซ่อมใหญ่  เสร็จแล้วก็ส่งต่อให้ “ช่างถักขอบ” ที่เข้ามารับหน้าที่จำเป็นนี้ แต่เมื่อเสร็จแล้ว งานที่เห็นก็ทำเอาหัวใจเต้นโครมคราม  ด้วยวิธีแก้ปัญหาอย่างง่ายๆ ด้วยทรัพยากรที่มีอยู่ โดยอาศัยพื้นฐานทักษะของคนข้างกาย และความคิดสร้างสรรค์ ที่ไม่ติดอยู่กับกรอบทัศน์เดิม

เรามองเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์แล้ว

รุ่งขึ้น  เราสามชีวิตกระเตงกันไปบนมอเตอร์ไซค์คันเก่า พร้อมความหวังที่ซุกอยู่ในย่าม มุ่งไปยังเชียงอินทร์พลาซ่า ที่เพิ่งเปิด พร้อมกับงานนิทรรศการศิลปะ ที่มีงานของ อ.ประดับ เต็มดี เพื่อนสันหลังยาวคนหนึ่งแสดงอยู่ด้วย… 

เราเดินวนเวียนอยู่ชั้นบนที่ยังมีอยู่ไม่กี่ร้าน  มีร้านของพี่อุ๋มอิ๋ม นักเขียน เจ้าของงานเขียน ” เรื่องของอะตอม” ที่ถูกนำมาสร้างเป็นหนัง จันทร์จิรา จูแจ้ง แสดง  จำได้ว่าชอบมาก  ไปดูที่ฟ้าธานี ตอนคณะมนุษย์ศาสตร์ นำมาฉายหาเงิน

ร้านของเธอชื่อ papa&son  เป็นงานไม้ ดีไซน์สวยดี  ตอนนั้นได้เจอพี่อุ๋มอิ๋มด้วย เธอกำลังดูแลเด็กคนหนึ่งซึ่งเข้าใจว่าเป็นลูก  เหมือนเธอจะรู้เจตนาของการมาของเรา จึงส่งสื่อสายตาที่ทำให้ผมไม่กล้าเอื้อนเอ่ยอะไรออกมา ที่จริงเราเคยคุยกันครั้งหรือสองครั้ง ตอนที่ผมขายหนังสือเก่าที่ฝายหิน แต่สภาพผมตอนนั้นคงเหมือนคนที่กำลังสิ้นไร้ไม้ตอก แม้แต่เพื่อนที่รู้จักมักคุ้นยังเลี่ยงที่จะเจอเลย… 

อีกร้านข้างๆ กำลังจะปิด เรารีบเดินเข้าไป ไม่สนชื่อร้าน ไม่สนเลยว่าจะเหมาะกับงานของเรารึป่าว รี่เข้าไปหาเด็กในร้าน  และฝากงานไว้ เธอยื่นนามบัตรให้ และว่า พรุ่งนี้ให้ติดต่อพี่ป้อมเอง

ความหวังที่รอคอย ถูกเลื่อนไปอีก… 

วันต่อมา ผมขี่มอเตอรไซค์ไปที่ร้านตรงถนนนิมมานเหมินทร์  ยุคนั้น ร้านขายงานฝีมือชั้นดี สำหรับคนเชียงใหม่หรือนักท่องเที่ยว มีเพียงไม่กี่ร้าน  จำได้ว่า ปากซอยนิมมานหนึ่ง มีร้านขายโคมไฟ และของตกแต่งบ้านอยู่ร้านเดียว ลึกเข้าไปในซอยยังไม่มีร้านรวงมากมาย  แต่อาคารพาณิชย์ที่ตั้งของร้านก๋วยเตี๋ยวตำลึง กับร้านต่างๆทุกวันนี้ ผุดขึ้นแล้ว

นิมมานหนึ่ง พศ.นั้น ยังไม่รู้จักงาน แนป Nap ยังไม่ใช่ถนนสายฮิปของคนเสพงานศิลป์ อาตี๋อาหมวยยังไม่ยกโขยงมาทัวร์ 

อาคารพาณิชย์ริมถนนนิมมาน ตรงข้ามซอยหนึ่ง  คือที่ตั้งของร้านชื่อดัง นันทขว้าง ขายชุดผ้าไหม ผ้าปักลาย และของใช้ในบ้านระดับไฮเอนด์ ซึ่งเราไม่เคยคิดจะเฉียดกรายเข้าไปดู  

และข้างๆกันคือร้านของพี่ป้อม  สบันงา  

ผลักประตูกระจกเข้าไป  เจอหญิงสาวคนเมื่อวานที่เชียงอินทร์  เธอจำได้และขึ้นไปตามให้ทันที ผมมีเวลากวาดตาดูสินค้าในร้าน เป็นผลิตภัณฑ์งานฝีมือแบบผู้หญิงจำพวกผ้ากุ๊นลูกไม้ ทั้งกระเป๋าดินสอ ซองใส่ทิชชู่ ปลอกหมอน พวงกุญแจตุุ๊กตาเด็กผู้หญิงสวมชุดลายตาหมากรุก  ตามองแต่ในใจเหมือนกำลังรอคำพิพากษานังไงยังงั้น…

แว่บเดียวพี่ป้อมก็ลงมา และไม่ทันจะได้เอ่ยอะไร แกก็เอ่ยน้ำเสียงราบเรียบว่า  สวยดี  เล่มเท่าไร…. 

บอกตรงๆ ผมจำความรู้สึกตอนนั้นไม่ได้เลย ว่าดีใจ ลิงโลดใจ หรือตื่นเต้นมากน้อยแค่ไหน 

แต่ที่แน่ๆคือ ผมเห็นตัวเองพาลูกเมียไปกินอะไรดีๆสักมื้อที่เซ็นทรัล และซื้อของเล่นให้ไอ้ตัวแสบ… 

เนื่องจากทุนรอนที่จะนำมาเปิดกิจการ งานคร้าฟต์ ไม่มีเลย จึงต้องรบกวนให้กกไปหยิบยืมเด็ดผู้เป็นน้องชายมา 100 บาท เพื่อซื้อเชือกเทียนสีอื่นๆสำหรับถักขอบ และเย็บ กับผ้าดิบ  หัตถอุตสาหกรรม หรือการงานอันต้องใช้มืออันอุตสาหะของคู่ผัวตัวเมียก็เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่บัดนั้น

เราได้รับค่าตอบแทนก้อนแรกจากผลผลิตชุดแรก สมุดเจ็ดเล่ม  เป็นเงิน 630 บาท 

ทุกรายการรายรับรายจ่ายถูกบันทึกลงไว้ในสมุดไดอารี่เล่มแรกจากฝีมือของผัวเมีย 

ที่ทุกวันนี้ เป็นความทรงจำอีกหนึ่งชิ้นที่แสนหวงแหนใน “ตู้สมบัติ” ที่บ้านปาป้าคร้าฟต์

สามารถติดต่อสอบถามได้ที่

  • ที่ตั้ง : เลขที่ 268 ถนนตลาดเก่า ตำบลสวนดอก อำเภอเมืองฯ จังหวัดลำปาง 52100 (แผนที่)
  • วัน – เวลาทำการ : ทุกวัน เวลา 9.00 – 17.00 น. (หยุดเฉพาะวันพุธ) | เสาร์ – อาทิตย์ เปิดถึง 20.00 น.
  • โทรศัพท์ : 06 5507 3699 และ 08 4049 3246
  • Facebook : Papacraft
  • Instagram : papacraftfamily
  • LINE ID : @papacraft



Papacraft : จิวเวลรี่เครื่องหนังจากจิตวิญญาณของคนสองวัย