เมื่อไม่กี่วันก่อน Novica แพล็ตฟอร์มขายงานคร้าฟต์ทั่วโลก โทรมาถามปาป้า ขอความเห็นเพื่อนำไปตีพิมพ์ในวัน World Artisan Day เข้าใจว่า ปีนี้เป็นปีแรก
ตรงกับวันนี้ 18 เมษายน ซึ่งโนวิก้าเป็นหัวหอกริเริ่ม
ใจหนึ่งก็ดีใจ ที่มีการยกย่อง คนอาชีพเดียวกับปาป้า ซึ่งคนคร้าฟต์ หรือ Craftsman หรือช่างหัตถศิลป์นี่แหละที่เป็นผู้สืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมตัวจริง ไม่มีพวกเขาเราคงไม่ได้เห็นตะกร้าสานลายซับซ้อนสวยงาม หรือลวดลายของตีนจกที่เป็นเสมือนบันทึกจินตนาการอันวิจิตรของช่างทอผ้าโบราณ แต่มองอีกมุมก็รู้สึกน่าน้อยเนื้อต่ำใจแทน ช่างทั้งหลาย ที่แม้จะมีความสำคัญ แต่ก็เป็นกลุ่มคนที่ถูกมองข้ามเรื่อยมา
ไม่น่าเชื่อ!!! อาคาร สถาปัตยกรรมสำคัญของโลก จนถึงบ้านที่เราอาศัยอยู่ ล้วนคือผลงานจากหยาดเหงื่อแรงงานของพวกเขา แต่เรากลับไม่มีวาระที่ยกย่องเชิดชูพวกเขาเลย นอกจากวันแรงงานสากล Labor Day ซึ่งหมายรวมถึงแรงงานทุกชั้น สล่า หรือช่างฝีมือ ก็เป็นแค่ส่วนหนึ่ง ที่ได้ร่วมตั้งวงฉลองกันวันนี้
คำถามคือ ทำไมช่างฝีมือ หรือ Artisan หรือ Craftman จึงกลายเป็นกลุ่มอาชีพที่ถูกมองข้ามความสำคัญ
หากใครเคยค้นหาหนังสือ หรือข้อมูลที่ว่าด้วยประวัติความเป็นมาของช่างไทย จะพบว่า แทบไม่ปรากฎในสารบบเลย นอกจากหนังสือรวบรวมงานหัตถกรรมแขนงต่างๆของอ.วิบูลย์ ลี้สุวรรณ อาทิ งานจักสาน ผ้าทอ งานปูนปั้นลายไทย ลายพุทธศิลป์
ไปค้นหนังสือต่างประเทศ ก็พบว่า มี แต่น้อยจนน่าแปลกใจ แต่ก็พอได้คำตอบเลาๆ
หนังสือเล่มหนึ่งบอกว่า แค่จะเริ่มต้นนิยามคำว่า craft ก็เหมือนเรียกแขก ชวนทัวร์ลง ซะแล้ว เพราะ คำๆนี้ มีความหมายกว้างกว่าทะเล จึงเป็นงานยากยิ่งที่จะหาคำจำกัดความที่ทำให้ทุกๆคน ทุกๆฝ่ายพอใจ
นี่อาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่การก่อตั้ง "วันช่างฝีมือโลก" อาจจะยังทะเลาะกันไม่จบหาข้อยุติไม่ได้ จนถึงวันนี้ ทีนี้ลองมาดูกันว่า เค้านิยามกันอย่างไรบ้าง พจนานุกรม อ๊อกซ์ฝอร์ด ที่ขึ้นหน้าแรกกูเกิ้ล บอกว่า craft หมายถึง “ an activity involving skill in making things by hand. ”
คือ กิจกรรมต่างๆที่ต้องใช้ทักษะการทำหรือการสร้างขึ้นด้วยมือ
ไม่รู้นิยามอันนี้รึป่าว ที่ทำให้ โลกไร้ซึ่งวันช่างมาจนวันนี้
เพราะ ใครทำอะไร ก็ใช้มือทั้งนั้น กระทั่งเด็กแข่ง E-sport ก็ต้องอาศัยความคล่องแคล่วของนิ้วมือ
หากมีวันคร้าฟต์แมนโลก World craftman เมื่อไร เหล่าช่างอี-สปอร์ตก็ต้องขอมีส่วนร่วมฉลองด้วย
นี่ยังไม่พูดถึงความหมายอื่นๆที่ แทบไม่เกี่ยวอะไรกับทักษะมือตามนิยามที่ว่าเลย อาทิ คร้าฟต์เบียร์ ที่หมายถึง เบียร์ที่บ่มด้วยกรรมวิธีพื้นๆ ไม่ใช่อุตสาหกรรม หรือ เกมสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์หรือสร้างเมือง ที่ใช้มือ หรือพูดให้ชัดคือปลายนิ้วมือเคลื่อนไหวสัมผัสตามสมองสั่งเท่านั้น แทบไม่ได้อาศัยศักยภาพของมือมนุษย์ที่พระเจ้าประทานมาเลยแม้แต่น้อย ไม่ได้ใช้มือปั้นดินก่อรูปตามจินตนาการ ไม่ได้ ใช้มือก่ออิฐก้อนแล้วก้อนเล่าด้วยความอดทน ไม่ได้จับค้อนตอกตะปูจมเนื้อไม้ด้วยความหนักแน่นและแม่นยำ ทุกอย่างล้วนเป็นทักษะเสมือน
• อีกเหตุผลหนึ่ง ที่เข้าใจว่า ทำให้ช่างฝีมือเป็นกลุ่มคนที่ไม่ได้ถูกจัดลำดับความสำคัญในสังคม
ก็คือ งานฝีมือไม่อาจ หรือยากจะยึดเป็นงานเลี้ยงชีพได้ ยิ่งในโลกที่เครื่องจักรที่ถูกสั่งงานโดยเอไอมาแทนมือคนด้วยแล้ว มนุษย์ที่ใช้มือประดิษฐ์ประดอย งานแทบจะเป็นชนกลุ่มน้อยไปเลย
• วันก่อน เดวิด หนุ่มใหญ่เมกัน ที่มีหวานใจเป็นสาวลำปาง มาเจอปาป้ากำลังตอกหนังในสตูดิโอ เอ่ยขึ้นว่า นายเป็นคนน่าสนใจนะ Why? Cause I look like a rockstar ain't it? ท่าทางผมเหมือนร็อคเก้อร์ ชิมิ "ไม่ช่าย" เขาสั่นหัว "ผมไม่ค่อยเจอคนทำงานฝีมือแล้ว ผมถึงชอบเที่ยวเมืองเหนือ ลำปาง เชียงใหม่ เชียงราย แถวนี้ยังมีให้เห็นอยู่บ้าง"
ด้วยเหตุนี้ งานคร้าฟต์ หรืองานฝีมือ จึงถูกจัดเป็นเพียง ฮ้อบบี้ หรืองานที่ทำแก้เหงา ฆ่าเวลาเล่นเพลินๆ หรืออย่างดี ถ้าว่างจัด มีแรงเหลือ ก็อาจทำขายให้เพื่อนฝูง หรือโพสต์ขายในไอจี เฟสบุ๊ค ยังไม่ค่อยเห็นใครประกาศตัวว่า มีอาชีพเป็น ช่างฝีมือ
ฉะนั้น หากมองในมุมนี้ ก็เป็นไปได้ว่า ที่ยังไม่ได้มีการจัดวันเฉลิมฉลองช่างฝีมือโลกอย่างเป็นทางการ ก็เพราะเจ้าภาพเกรงจะรอแขกเก้อ หรือมีคนมาร่วมหร็อมแหร็ม
เอาเป็นว่าไหนๆ ก็มีคนนำร่อง ยกย่องคนคร้าฟต์แล้ว ปาป้าก็ได้แต่แอบหวังว่า กลุ่มคนที่ทำงานด้วยมือ สืบทอดศิลปะจากคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ และส่งต่อภูมิปัญญาให้สังคมได้เสพสุนทรียะจากงานสร้างสรรค์เหล่านี้ จนบางคนแม้จะยังน้อยอยู่สามารถยึดเป็นอาชีพ และบางส่วนสามารถโกอินเตอร์นำเงินเข้าประเทศได้..
หวังว่าพวกเขาเหล่านี้จะได้รับเกียรติ เลื่อนชั้นความสำคัญยิ่งขึ้น ในวันข้างหน้า
หรือชมเรื่องราวปาป้าฉบับอิงลิชได้ที่
https://www.novica.com/a/chang/13722/
———
ช่องทางติดต่อและติดตาม
กิจกรรมของปาป้าคร้าฟต์:
• line OA : @papacraft
• FB : papacraft
• FB : papacraftcafe
• inbox : m.me/papacraftfamily
• tel : 084 049 3246
และชมความงาม
ที่สรรค์สร้างด้วย
หัวใจของเราได้ที่:
www.etsy.com/shop/papacraftfamily
———